ในยุคที่สื่อสังคมออนไลน์มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย การหมิ่นประมาทด้วยการโพสต์ข้อความ/ภาพถ่าย ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ จึงมีกันให้เห็นบ่อยๆ คดีในลักษณะนี้ก็มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และเป็นคดีที่มีการฟ้องร้อง และสู้คดีกันในศาลเป็นจำนวนมากในแต่ละปี กฎหมายเรื่องความผิดฐานหมิ่นประมาทจึงเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่ควรศึกษาไว้จะได้ไม่ตกเป็นผู้กระทำความผิด หรือหากตกเป็นผู้เสียหายก็ได้รู้แนวทางในการฟ้องร้องเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของตนต่อไป
หมิ่นประมาทคืออะไร
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คำอธิบาย
หมิ่นประมาท คือ การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันประการจะทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง
มีองค์ประกอบความผิดดังนี้
1. ใส่ความ ต้องมีลักษณะ เป็นการกล่าวอ้างยืนยันข้อเท็จจริงบางอย่างว่าเป็นจริง เช่นกล่าวอ้างว่า ผู้เสียหายมีพฤติกรรมในทางเสื่อมเสีย ประพฤติเสื่อมเสียในทางประเวณี ประพฤติชั่ว ฐานะการเงินไม่น่าเชื่อถือ หรือทุจริตในการทำงาน ไม่ว่าเรื่องที่กล่าวอ้างจะเป็นจริงหรือไม่ ถ้าเรื่องที่กล่าวออกไปนั้นน่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ก็ถือเป็นการหมิ่นประมาท หรือแม้แต่การนำเรื่องที่ได้ยินได้ฟังมา ไปเล่าให้บุคคลอื่นฟังต่อก็อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้
2. ผู้อื่น คือผู้เสียหายที่ถูกใส่ความ อาจเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้
3. ต่อบุคคลที่สาม ความผิดจะสำเร็จต่อเมื่อบุคคลที่สามเข้าใจและรับทราบข้อเท็จจริงจากการหมิ่นประมาท บุคคลที่สามต้องอยู่ในฐานะที่จะเข้าใจข้อความที่ใส่ความได้ ถ้าฟังภาษา ไม่เข้าใจ เด็กไร้เดียงสา พูดให้คนหูหนวกฟัง ก็ไม่ถือว่าเป็นบุคคลที่สาม และถ้าเป็นกระทำต่อผู้ถูกใส่ความโดยตรงไม่มีบุคคลที่สามหรือบุคคลทั่วไป อยู่ด้วยเลย เช่นใส่ความหรือด่าเขาเสีย ๆ หาย ๆ เพียงสองคน เช่นนี้ไม่มีความผิดฐาน หมิ่นประมาท (แต่อาจมีความผิดฐานดูหมิ่นได้)
4. โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง กรณีการถูกใส่ความนั้น แม้ผู้ถูกใส่ความจะยังไม่เสียชื่อเสียง ยังไม่ถูกถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เช่น บุคคลที่สามทราบอยู่แล้วว่า ข้อความนั้นไม่เป็นความจริง ก็ยังถือว่าเป็นความผิด เพราะกฎหมายใช้คำว่า “น่าจะ” จึงไม่ต้องคำนึงถึงผลการกระทำหรือผลของการใส่ความ
5. โดยเจตนา ผู้กระทำต้องมีเจตนาใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม ให้เขาเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง แต่ถ้าไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นคามผิด
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2541
จำเลยกับผู้เสียหายเคยมีความขัดแย้งกันในเรื่องหนี้เงินกู้มาก่อน ประกอบกับพฤติการณ์ของผู้เสียหายเมื่อไปถึงหน้ารั้วบ้านของจำเลยได้เรียกจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ให้ออกมาพูด นอกรั้วบ้าน อันถือว่าเป็นการไม่ให้เกียรติ จำเลย ทำให้จำเลยโกรธผู้เสียหาย และร้องด่าผู้เสียหายว่า "มึงเป็นเมียน้อยสารวัตรส.อย่ามาทำใหญ่ให้กู้เห็นนะ"ต่อหน้า พ.ซึ่งมากับผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ผู้เสียหายเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังจาก พ. อันเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2503
นางใยอาของโจทก์เล่าให้จำเลยฟังว่าโจทก์(เป็นนางสาว) กับนายอนันต์ซึ่งเป็นญาติของโจทก์ รักใคร่กันทางชู้สาวนอนกอดจูบกันและได้เสียกัน ต่อมานางสงวนมาถามจำเลยว่านางใยมาเล่าอะไรให้จำเลยฟังจำเลยก็เล่าข้อความตามที่นางใยเล่าแก่จำเลยให้นางสงวนฟังนางสงวนได้เอาข้อความนั้นไปเล่าให้โจทก์ฟังอีกชั้นหนึ่งเช่นนี้ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าว เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์อย่างเห็นได้ชัด เมื่อจำเลยกล่าวออกไปแม้จะโดยถูกถามก็ดี จำเลยควรต้องสำนึกในการกระทำและเล็งเห็นผลของการกระทำของจำเลย ถือได้ว่า จำเลยจงใจกล่าวข้อความยืนยันข้อเท็จจริงโดยเจตนาใส่ความโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 110/2516
จำเลยมีจดหมายซึ่งมีข้อความหมิ่นประมาทส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงโจทก์โดยตรงไปยังสำนักงานโจทก์ แสดงเจตนาของจำเลยว่าจะให้โจทก์เท่านั้นทราบข้อความในจดหมาย มิใช่เจตนาเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม แม้เสมียนของโจทก์ทราบข้อความจากจดหมายที่จำเลยส่งไปถึงตัวโจทก์นั้น ก็เป็นเรื่องนอกเหนือเจตนาของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328
ข้อเท็จจริงที่ใส่ความ ต้องเป็นข้อเท็จจริงในอดีตหรือปัจจุบัน การยืนยันเหตการณ์ในอนาคต หรือการคาดคะเนจึงไม่เป็นการหมิ่นประมาท
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2180/2531
การที่จะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้น จะต้องเป็นการใส่ความผู้อื่นโดยยืนยันข้อเท็จจริงที่ใส่ความนั้นต่อบุคคลที่สามและการใส่ความนั้นน่าจะทำให้ผู้อื่นที่ถูกใส่ความเสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ดังนั้น การที่จำเลยถาม ป. ว่ามีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับโจทก์หรือไม่ จึงเป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงอันน่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชังแต่ประการใด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทและข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยกล่าววาจาต่อหน้าโจทก์ จึงไม่ใช่เป็นดูหมิ่นโจทก์ซึ่งหน้า จำเลยไม่มีความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1734/2503
มารดาถูกขว้างด้วยก้อนอิฐ บุตรไม่เห็นคนขว้าง แต่ได้กล่าวต่อหน้าคนหลายคนว่า ไม่มีใครนอกจากอ้ายแก้ว (โจทก์) อ้ายชาติหมา อ้ายฉิบหาย ดังนี้ พฤติการณ์ในคดีแสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นแต่คาดคะเนไม่มีเจตนาใส่ความให้โจทก์เสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ไม่ผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326
ไม่ระบุชื่อ ก็อาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้
การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม อันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท จะต้องได้ความว่าการใส่ความดังกล่าว ได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ หากบุคคลที่สามไม่รู้ว่าหมายถึงใคร และได้ไปสืบหาข้อมูลจนทราบในภายหลังว่าหมายถึงใคร เช่นนี้ไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
แต่การโพสต์ข้อความในลักษณะใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม แบบไม่ระบุชื่อ แต่หากการโพสต์ข้อความดังกล่าวนั้น ผู้อ่านสามารถทราบได้ว่า ผู้โพสต์ข้อความหมายถึงใคร เช่นนี้ก็เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทได้
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1513/2551
ข้อความที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ไม่มีข้อความในที่ใดที่ระบุชื่อและนามสกุลของโจทก์หรือพอจะให้ทราบได้ว่าเป็นโจทก์ผู้บังคับการ พ. กองบังคับการหมายเลข 5 ที่กำลังจะเกษียณในปี 2546 ได้ไป 3 ล้านบาท ทำทุนหลังเกษียณนั้น ก็ไม่ได้ระบุชื่อโดยชัดแจ้งว่าเป็นผู้ใด ชื่อที่ระบุเป็นเพียงอักษรย่อเท่านั้น และมิได้ระบุนามสกุล ทั้งสถานที่ทำงานกองบังคับการหมายเลข 5 ก็ไม่ชัดเจนว่าเป็นที่ใดบุคคลทั่วไปที่อ่านข้อความย่อมไม่อาจทราบหรือเข้าใจได้ว่าอักษรย่อ พ. หมายความถึงผู้ใดและเป็นเรื่องจริงตามที่ลงพิมพ์หรือไม่ หากต้องการรู้ความหมายว่าเป็นผู้ใดก็ต้องไปสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมทั้งไม่แน่ว่าหลังจากสืบเสาะค้นหาเพิ่มเติมแล้วจะเป็นตัวโจทก์จริงหรือไม่และหากหลังจากสืบเสาะค้นหาแล้วจึงทราบว่าหมายความถึงโจทก์ก็มิใช่ทราบจากข้อความที่ลงพิมพ์ แต่ทราบจากการที่บุคคลผู้นั้นได้สืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงมาเองในภายหลัง มิได้ทราบว่าหมายความถึงโจทก์โดยอาศัยข้อความจากหนังสือพิมพ์ ลำพังเพียงข้อความตามที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์จึงยังไม่เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1628/2500
จำเลยลงข่าวในหนังสือพิมพ์ของจำเลยเป็นข้อความหมิ่นประมาทใส่ความกำนันตำบลหาดท่าเสา อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาทว่าให้สินบนพนักงานสอบสวนที่ทำการสอบสวนกำนันฐานทุจริตต่อหน้าที่และพนักงานสอบสวนนั้นได้หน่วงเหนี่ยวสำนวนไว้เพื่อให้พยานกลับคำ เมื่อปรากฏว่ากำนันตำบลหาดท่าเสามีนายใบโสภาสุขคนเดียว และนายใบ โสภาสุขกำลังถูกนายประโยชน์แสงสอาดสอบสวนเรื่องทุจริตต่อหน้าที่ (สอบสวนคนเดียว) เช่นนี้จำเลยก็ย่อมมีผิดฐานหมิ่นประมาทใส่ความนายใบและนายประโยชน์ทั้งสองคน
หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
คำอธิบาย
ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 มีองค์ประกอบความผิดเช่นเดียวกับความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 แต่ผู้กระทำมีเจตนาเผยแพร่ข้อความอันเป็นการหมิ่นประมาทออกไปยังสาธารณชนหรือประชาชนในวงกว้าง เช่นการโพสต์ข้อความ/ภาพถ่ายลงใน Facebook Instagram TikTok แปะป้ายประกาศด้วยเอกสาร หรือลงข้อความหมิ่นประมาททางหนังสือพิมพ์ ฯลฯ ซึ่งมีโทษหนักกว่าการหมิ่นประมาทธรรมดา
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2499/2526
จำเลยนำข้อความไปลงในหนังสือพิมพ์รายวันว่า 'ประกาศจับ ส. (โจทก์)ในข้อหาหรือฐานความผิดยักยอกทรัพย์ ผู้ใดพบเห็นหรือชี้แนะได้ให้นำส่งสถานีตำรวจ ช. (ผู้เสียหาย)' และลงรูปโจทก์ไว้ข้างข้อความดังกล่าวโดยปรากฏว่าขณะจำเลยนำข้อความตามฟ้องและรูปโจทก์ไปลงโฆษณานั้น จำเลย ก็ทราบว่าโจทก์รับราชการมีที่อยู่ที่แน่นอน ซึ่งจำเลย อาจนำเจ้าพนักงานไปจับกุมโจทก์ตามหมายจับได้โดยง่ายไม่มีความจำเป็นต้องลงโฆษณาประกาศจับทางหนังสือพิมพ์และข้อความที่ลงโฆษณาย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์เป็นคนทุจริต การกระทำของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์โดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง เรื่องที่จำเลยลงโฆษณาก็เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน แม้พนักงานสอบสวนจะออกหมายจับโจทก์จริง การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328
คำพิพากษาฎีกาที่ 5276/2562
การที่จำเลยส่งข้อความลงในแอปพลิเคชั่นไลน์กลุ่มโพสท์นิวส์ออนไลน์ มีลักษณะเป็น เพียงเจตนาการแจ้งหรือไขข่าวไปยังเฉพาะกลุ่มบุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์เท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นการกระจายข่าวไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป คดีโจทก์ไม่มีมูลความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๘
ข้อยกเว้นไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชม ด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิดเผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1183/2510
พระภิกษุในวัดเดียวกันทำหนังสือร้องเรียนต่อสังฆนายกว่าพระภิกษุเจ้าอาวาสประพฤติผิดธรรมวินัยโดยร่วมประเวณีกับหญิงแม้เรื่องที่ร้องเรียนกล่าวหานั้นจะไม่เป็นความจริง แต่ได้ร้องเรียนไปโดยสุจริต โดยมีเหตุอันควรเชื่อว่าเป็นความจริง ดังนี้ ไม่มีผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะถือว่าเป็นการแสดงข้อความโดยสุจริตเพื่อ ความชอบธรรมป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3283/2537
การที่โจทก์ส่งมอบงานต่อทางราชการ โดยยังก่อสร้างไม่เสร็จย่อมทำให้ประชาชนรวมทั้งจำเลยที่ 2 เข้าใจโดยสุจริตว่าโจทก์ทำงานไม่เรียบร้อย และผิดระเบียบของทางราชการ ส่วนที่โจทก์กับคณะกรรมการตรวจรับงานจะมีข้อตกลงกันเป็นพิเศษอย่างไรนั้นจำเลยที่ 2 ไม่อาจรู้ได้ เมื่อมีเหตุให้น่าสงสัยอันสมควร จำเลยที่ 2จึงได้ลงพิมพ์โฆษณาบทความวิพากษ์วิจารณ์เพื่อรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวมว่า "สนามที่สร้างแบบสุกเอาเผากิน ทำเพียงไม่กี่วันก็เสร็จ" เพราะเชื่อโดยสุจริตว่ามีมูลความจริง ดังนี้ ถือได้ว่าเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำจึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3)
แต่การใส่ความในเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือเป็นการวิจารณ์นอกเรื่องไม่เกี่ยวกับส่วนได้เสียของตน ไม่เข้าข้อยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3725/2538
การที่จำเลยเข้าใจว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับสามีจำเลยไม่ก่อให้จำเลยเกิดสิทธิที่จะเข้าไปกล่าวประจานโจทก์ในที่ทำงานของโจทก์ต่อหน้าเพื่อนร่วมงานของโจทก์ด้วยถ้อยคำหมิ่นประมาทโจทก์เห็นได้ว่าจำเลยมุ่งประสงค์เพื่อให้โจทก์อับอายและทำลายชื่อเสียงของโจทก์ดังนั้นจำเลยจะยกเหตุเพื่อความชอบธรรมป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรมขึ้นเพื่อปฏิเสธความผิดไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 407/2523
จำเลยลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์มีข้อความสำคัญว่าโจทก์จ่ายเช็คจำนวน 1 ล้านบาทให้แก่ธนาคาร ถึงกำหนดปรากฏว่าเช็คไม่มีเงินธนาคารแจ้งตำรวจขอให้จับโจทก์ดำเนินคดี ตามข้อความดังกล่าวย่อมเป็นที่เข้าใจว่าโจทก์มีฐานะการเงินไม่ดีไม่น่าเชื่อถือ การลงข่าวของจำเลยจึงเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกเทศมนตรีและประกอบการค้าโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์เสียชื่อเสียงทั้งเรื่องที่โจทก์จ่ายเช็คไม่มีเงินและถูกธนาคารแจ้งความเป็นเรื่องส่วนตัวของโจทก์ ไม่เกี่ยวกับหน้าที่การงานของโจทก์ในตำแหน่งนายกเทศมนตรีอันจะถือได้ว่าเป็นประโยชน์แก่ประชาชนจำเลยจะอ้างว่าข่าวนั้นเป็นความจริงเพื่อมิให้ต้องรับผิดหาได้ไม่
ข้อยกเว้นไม่ต้องรับโทษฐานหมิ่นประมาท
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง
มาตรา 330 ในกรณีหมิ่นประมาท ถ้าผู้ถูกหาว่ากระทำความผิด พิสูจน์ได้ว่าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์ ถ้าข้อที่หาว่าเป็นหมิ่นประมาทนั้นเป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์จะไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1606/2479
จำเลยกล่าวประจานหญิงว่าได้เคยเสียตัวกับจำเลยและชายอื่น ๆ แล้วเป็นผิดฐานหมิ่นประมาท และเรื่องเช่นนี้จำเลยจะขอนำสืบว่าหญิงได้เคยเสียตัวกับจำเลยจริงไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว และการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1362/2514
ข้อความที่จำเลยโฆษณาว่า "จ่าสิบตำรวจอารมย์ ประทุมศรีหัวหน้าตำรวจจราจรและพลตำรวจพิชัย จิตรหาญ ฟังทางนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของท่านจงอย่าเห็นแก่เล็กแก่น้อย ฯลฯ " นั้นไม่ใช่เป็นการใส่ความในเรื่องส่วนตัว เพราะผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ปฏิบัติราชการเกี่ยวกับการจราจร การที่ผู้เสียหายเรียกหรือรับสินบนจากผู้กระทำผิดจราจรนั้น ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยมิชอบถ้าเป็นความจริงดังที่จำเลยโฆษณา ก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อประชาชน จำเลยจึงขอพิสูจน์ความจริงได้
อายุความ
คดีหมิ่นประมาททุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทธรรมดา หรือหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ล้วนแต่เป็นคดีความผิดอันชอบความได้ ดังนั้นผู้เสียหายจึงจะต้องแจ้งความร้องทุกข์หรือฟ้องร้องดำเนินคดีภายใน 3 เดือนนับจากวันที่รู้เรื่องการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ไม่เช่นนั้นคดีขาดอายุความ
***หลักฐานที่ต้องเตรียมสำหรับใช้ในการฟ้องคดีฐานหมิ่นประมาท***
1.เก็บเอกสารหลักฐาน ข้อความภาพ/ภาพถ่าย ที่เขาโพสต์หมิ่นประมาทให้มากที่สุด
2.ภาพหลักฐานรูปโปรโฟล์ ภาพถ่ายการโพสต์สลิปโอนเงิน หรือหลักฐานรายงานทางการแพทย์ที่มีการแสดงชื่อของเจ้าของบัญชี เพื่อแสดงให้เห็นชัดเจนว่าบุคคลผู้กระทำความผิดนั้นเป็นใคร และเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงหรือไม่
3. พยานบุคคลที่ได้ทราบข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาท
TDA LEGAL
ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายทุกด้าน โดยทนายความที่มีความรู้ด้านกฎหมายเฉพาะทาง