ฟ้องเรียกเงินคืนจากโครงการคอนโดต้องทำอย่างไร

          กรณีไหนบ้างที่จะสามารถใช้สิทธิเรียกร้องขอเงินคืนจากโครงการที่ได้เข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด อันดับแรกจะต้องพิจารณาถึงมูลเหตุที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเกิดจากอะไร ใครเป็นฝ่ายผิดสัญญา ในกรณีที่ทางโครงการจะเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะมีเหตุดังต่อไปนี้ อาทิเช่น ก่อสร้างล่าช้า  สร้างผิดแบบ ก่อสร้างล่าช้าเพราะEIA หรือใช้วัสดุในการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่แก้ไข หรือไม่ก่อสร้างพื้นที่ส่วนกลาง เป็นต้น             

          และในกรณีที่ผู้จะซื้อเป็นฝ่ายผิดสัญญาจะมีเหตุดังต่อไปนี้ อาทิเช่น กู้ไม่ผ่าน ผ่อนดาวน์ไม่ไหวหรือเปลี่ยนใจไม่ซื้อ เป็นต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาตามเหตุดังกล่าวแล้วนั้น ก็จะส่งผลต่อการใช้สิทธิเรียกร้องเงินคืน ซึ่งอายุความในการใช้สิทธิเรียกร้องเงินคืนจากโครงการคอนโดต่างๆ นั้น ตามประมวลกฎหมายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 ได้บัญญัติไว้ว่า “อายุความนั้น ถ้าประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้มีกำหนดสิบปี” ดังนั้น อายุความในการฟ้องร้องเรียกเงินคืนจากทางคอนโดจึงมีความอายุ 10 ปี ตามที่กฎหมายได้กำหนดไว้

          เมื่อทราบถึงสาเหตุในการใช้สิทธิเรียกร้องแล้วนั้น เราจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับเงินที่เราได้ชำระให้แก่คอนโดต่างๆ ตามที่ได้กำหนดในสัญญา ซึ่งโดยปกติเงินที่เราได้ชำระให้แก่โครงการต่างๆ นั้นจะถูกแบ่งการชำระออกเป็น 3 ส่วนคือ

          1.เงินจอง คือ เงินที่จ่ายให้ ก่อนวันทำสัญญา เพื่อเป็นประกันว่าผู้จะซื้อจะมาทำสัญญาจะซื้อจะขายกับผู้จะขาย

          2.เงินทำสัญญา คือ เงินที่จ่ายให้ ในวันทำสัญญา เพื่อเป็นประกันว่าผู้จะซื้อจะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขาย

          3.เงินดาวน์ คือ เงินที่จ่ายให้เป็นงวดๆ หลังวันทำสัญญา เพื่อเป็นการชำระหนี้บางส่วนก่อนถึงกำหนดวันซื้อขาย

          ซึ่งเมื่อเข้าใจความหมายของเงินทั้งสามกรณีแล้ว จะต้องมาพิจารณาในส่วนข้อกฎหมายต่อไปว่าเงินทั้งสามกรณีนั้นตามกฎหมายมีผลอย่างไร

          ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 377 ได้กำหนดไว้ว่า “เมื่อเข้าทำสัญญา ถ้าได้ ให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ ท่านให้ถือว่าการที่ ให้มัดจำนั้นย่อมเป็นพยานหลักฐานว่า สัญญานั้นได้ทำกันขึ้นแล้ว อนึ่งมัดจำนี้ ย่อมเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตาม สัญญานั้นด้วย” 

          ดังนั้น เงินจองหรือเงินทำสัญญา จึงถือว่า เป็นเงินที่มอบให้แก่กันไว้ อันมีลักษณะเป็นมัดจำ เว้นเสียแต่ว่าในสัญญาจะซื้อจะขายนั้น ได้กำหนดหรือระบุว่าเงินจองหรือเงินทำสัญญาเป็นการวางเงินไว้เพื่อประโยชน์อย่างอื่น ซึ่งหากข้อเท็จจริงปรากฏว่าทางผู้จะซื้อคอนโดหรือโครงการต่างๆ เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือละเลยไม่ชำระหนี้ นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 378 ได้กำหนดไว้ว่าผู้จะขายย่อมมีสิทธิริบเงินเหล่านี้ได้ในฐานะที่เป็นมัดจำได้ แต่ถ้าหากตกลงให้ริบเงินมัดจำสูงเกินไป ศาลมีอำนาจลดลงให้ได้ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7302/2559)

          แต่ทั้งนี้ ส่วนเงินดาวน์ ไม่ใช่มัดจำ เพราะมิใช่ทรัพย์สินที่คู่สัญญาได้ให้ต่อกันไว้ในวันทำสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 377 แต่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการชำระราคาทรัพย์สินเท่านั้น ดังนั้น หากผู้จะซื้อผิดสัญญา ผู้จะขายย่อมไม่มีสิทธิริบเงินดาวน์ส่วนนี้ ซึ่งผู้จะซื้อสามารถฟ้องเรียกเงินในส่วนนั้นได้ (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3301/2547)

          แต่ในปัจจุบันโครงการคอนโดต่างๆ ก็มักจะมีข้อความระบุลงไปในสัญญาว่า “หากกรณีผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินตามที่ตกลงกันไว้ ทางผู้จะขายมีสิทธิริบในส่วนของเงินจอง เงินทำสัญญา หรือเงินอื่นใดที่ผู้จะซื้อได้ชำระมาแล้วทั้งหมด” เป็นต้น ซึ่งข้อความหรือข้อตกลงดังกล่าวในส่วนนี้กลายจะเป็น "เบี้ยปรับ" ที่ผู้จะขายมีสิทธิริบได้หากผู้จะซื้อผิดสัญญา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 แต่หากสูงเกินส่วนศาลก็สามารถปรับลดได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383  

ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาน่าสนใจ

          1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 132/2544

          โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพิพาทโดยมุ่งหมายจะได้รับประโยชน์จากการใช้สอยและยังมั่นใจว่าโครงการจะต้องก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามที่ระบุเอาไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดและตามคำโฆษณาของจำเลย ฉะนั้น กำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งของสัญญา การที่จำเลยก่อสร้างห้องชุดพิพาทไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดตามสัญญาเนื่องมาจากผู้รับเหมาก่อสร้างดำเนินการล่าช้าจนต้องจัดหาผู้รับเหมารายใหม่มาดำเนินการแทนนั้น จำเลยในฐานะเจ้าของโครงการขนาดใหญ่และเป็นผู้คัดเลือกผู้รับเหมาก่อสร้างย่อมจะต้องจัดหาผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีความสามารถและควบคุมกวดขันให้ผู้รับเหมาก่อสร้างดำเนินการก่อสร้างให้เป็นไปตามกำหนดเวลาที่ได้ตกลงกันไว้ต่อโจทก์การที่จำเลยทราบว่าผู้รับเหมาก่อสร้างล่าช้า แต่จำเลยกลับไม่รีบ ดำเนินการแก้ไขเพื่อให้อาคารชุดที่ก่อสร้างเสร็จทันภายในกำหนดและ สามารถส่งมอบห้องชุดพิพาทให้แก่โจทก์ผู้จะซื้อได้ ความล่าช้าในการ ก่อสร้างจึงถือว่าเป็นความบกพร่องของจำเลยเอง หาใช่กรณีมีเหตุจำเป็น ที่จะเป็นเหตุให้จำเลยขยายกำหนดเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญา ออกไปได้

            ที่จำเลยอ้างว่า แม้จำเลยก่อสร้างแล้วเสร็จตามกำหนดโจทก์ก็ไม่สามารถรับโอนกรรมสิทธิ์และเข้าครอบครองห้องชุดพิพาทได้เนื่องจากต้องรอการจดทะเบียนอาคารชุดและโอนกรรมสิทธิ์ก่อนนั้นการจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดก็ดี การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดก็ดี ล้วนเป็นข้อกำหนดในสัญญาอีกขั้นตอนหนึ่งแยกออกจากกันกับกำหนดระยะเวลาการก่อสร้างแล้วเสร็จตามสัญญา จะนำมาเกี่ยวพันกันหาได้ไม่ การที่จำเลยไม่ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในกำหนดจำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่ต้องคำนึงถึงกำหนดระยะเวลาการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาท

          เมื่อจำเลยไม่ดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จจนเลยระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายจึงเป็นการละเลยไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเลิกสัญญาได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 388

          2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5093/2541

          โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยมีหนังสือให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์ไปตรวจสอบสภาพการก่อสร้างตามโครงการแล้ว ปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่โฆษณาไว้กล่าวคือ ยังไม่ได้ติดตั้งโทรศัพท์สายตรงที่ห้องชุด ระบบโทรทัศน์วงจรปิดเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรอง และสระว่ายน้ำ โจทก์ให้จำเลยดำเนินการจัดสร้างให้ครบถ้วนโดยเร็ว แต่จำเลยเพิกเฉยถือว่าจำเลยผิดสัญญา โจทก์จึงให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญา จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธข้อกล่าวอ้างของโจทก์ดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยรับในข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้สร้างสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้โฆษณาไว้ตามฟ้องโจทก์ซึ่งเป็นไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสอง การที่จำเลยมีหนังสือให้โจทก์ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพร้อมทั้งชำระราคาส่วนที่เหลือตามสัญญาในขณะที่จำเลยยังไม่อยู่ในฐานะที่จะเรียกโจทก์มารับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตามสัญญา โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดตามที่จำเลยเสนอและไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือได้ โจทก์จึงไม่ใช่เป็นฝ่ายผิดสัญญา เมื่อโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยดำเนินการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกตามที่โฆษณาให้แล้วเสร็จก่อน แล้วโจทก์พร้อมที่จะรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพร้อมชำระราคาส่วนที่เหลือตามสัญญาแต่ระยะเวลาผ่านไปนานถึง 2 ปี จำเลยก็มิได้ดำเนินการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบถ้วนตามที่โฆษณาไว้ ถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้และคู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยจึงต้องคืนเงินมัดจำและเงินที่โจทก์ผ่อนชำระแก่จำเลยไว้พร้อมดอกเบี้ย ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 369,387 และ 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง เมื่อโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะเรียกเงินมัดจำและเงินที่ผ่อนชำระคืนเกิดขึ้นเมื่อได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยคือวันอันเป็นวันที่จำเลยรับหนังสือบอกเลิกสัญญาจากโจทก์ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันดังกล่าวซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ในอาคารชุดของจำเลยให้แก่บริษัท ส. โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยโอนอาคารชุดของจำเลยให้แก่บริษัท ส. ทำให้จำเลยไม่มีทรัพย์สินอื่นใดเหลืออยู่พอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในอันที่จะบังคับให้จำเลยชำระหนี้เงินมัดจำและเงินผ่อนชำระคืนแก่โจทก์ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินมัดจำและเงินผ่อนชำระคืนแก่โจทก์จึงเป็นกรณีคนละเรื่องกัน แม้โจทก์ฟ้องคดีทั้งสองสำนวนโดยอาศัยมูลคดีที่โจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายอาคารชุดและโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้วอย่างเดียวกัน แต่คดีก่อนโจทก์ยังต้องนำสืบให้เห็นว่าจำเลยโอนอาคารชุดให้แก่ผู้อื่นทำให้จำเลยไม่มีทรัพย์อื่นเหลือพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียเปรียบไม่อาจบังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้ อันเป็นข้อสำคัญในคดีที่แตกต่างไปจากคดีนี้ คดีทั้งสองสำนวนของโจทก์จึงไม่ เป็นการฟ้องซ้อน

          3.พิพากษาศาลฎีกาที่ 10115/2556

          คดีนี้จำเลยมิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โดยโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญาเนื่องจากไม่สามารถหาเงินมาชำหนี้ส่วนที่เหลือแก่จำเลยได้ และเงินจำนวน 50,000 บาทที่จำเลยวางไว้ในวันทำสัญญาจองและเงินจำนวน238,000 บาท ที่จำเลยวางไว้ให้แก่โจทก์ในวันสัญญาจะซื้อจะขายนั้นมีลักษณะเป็นเงินมัดจำ เมื่อโจทก์ผิดสัญญา จำเลยจึงมีสิทธิริบส่วนนี้ได้ ส่วนเงินที่โจทก์ชำระ ได้ให้แก่จำเลยอีก 2 งวด งวดละ 238,500 รวมเป็นเงิน 477,000บาท นั้นมิใช่มัดจำเนื่องจากเป็นเงินที่โจทก์ชำระหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายกันแล้ว จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของการชำระราคาค่าบ้านและที่ดินเงินส่วนนี้จึงถือเป็นเงินดาวน์ไม่ใช่เงินมัดจำแต่อย่างไรก็ดีตามสัญญามีข้อกำหนดให้จำเลยมีสิทธิริบเงินดาวน์ส่วนนี้ได้หากโจทก์ผิดสัญญา เงินดาวน์ส่วนนี้จึงถือเป็นเบี้ยปรับที่จำเลยมีสิทธิริบจากโจทก์เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา

          แต่อย่างไรก็ตามแม้จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 238,000 บาท และเบี้ยปรับจำนวน 477,000 บาท ได้ดังกล่าว แต่ในส่วนของมัดจำหากมีกรณีต้องริบและมัดจำนั้นสูงเกินส่วน ตามพระราชบัญญัติข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 บัญญัติให้อำนาจศาลลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริง ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142(5) ส่วนเบี้ยปรับนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383 ได้ให้อำนาจศาลในการปรับลดอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อได้คำนึงถึงทางได้เสียหายทุกอย่างของจำเลยโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์ให้จำเลยมีสิทธิรับมัดจำและเบี้ยปรับรวมเป็นเงิน 150,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

          4.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 513/2538                                                                                         

          มัดจำตาม ป.พ.พ.มาตรา 377 จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ให้ในวันทำสัญญานั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ให้ในวันอื่น สัญญาระบุ ในวันทำสัญญาผู้จะซื้อได้ชำระเงิน 200,000 บาท และในวันที่ 20 มีนาคม 2532 ชำระอีก3,300,000 บาท เฉพาะเงิน 200,000 บาท ที่ผู้ซื้อให้ผู้จะขายยึดเป็นประกันเท่านั้นที่เป็นมัดจำ ส่วนเงิน 3,300,000 บาท ซึ่งชำระหลังวันทำสัญญาไม่ใช่มัดจำเป็นเพียงการชำระราคาค่าที่ดินบางส่วน เงินที่จำเลยจะต้องใช้คืนโจทก์เพราะเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ.มาตรา 391 ต้องคืนพร้อมดอกเบี้ยนับแต่เวลาที่รับเงินไว้ ส่วนโจทก์ซึ่งได้รับโอนที่ดินบางส่วนจากจำเลยมาแล้วก็ต้องโอนคืนเฉพาะที่ยังมีชื่อทางทะเบียนเป็นของโจทก์ส่วนที่ดินซึ่งโจทก์ให้บุคคลภายนอกเป็นผู้รับโอนไปจากจำเลย โจทก์คงมีหน้าที่ต้องชดใช้ราคาที่ดินให้จำเลยทั้งสองแทนเพื่อไม่ให้เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกซึ่งรับโอนโดยสุจริตพร้อมดอกเบี้ยอัตรานับจากวันที่โจทก์ให้บุคคลภายนอกรับโอน

          5. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9514/2544

          แม้โจทก์จะได้วางเงินจำนวน 55,000 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินก็ตาม แต่เงินจำนวนดังกล่าวนี้ก็มิได้หมายความว่าจะเป็นเงินมัดจำไปเสียทั้งหมด ต้องขึ้นอยู่กับเจตนาของคู่กรณีเป็นสำคัญ เมื่อเจตนาของโจทก์และจำเลยปรากฏชัดแจ้งอยู่ในสัญญาแล้วว่าให้ถือเป็นเงินดาวน์ จึงต้องถือว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่ดินพร้อมทาวน์เฮ้าส์ ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ผ่อนชำระไปแล้วอีก 10 งวดจำนวน 87,000 บาท นั้น ยิ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ใช่เงินมัดจำ เพราะเป็นเงินที่ผ่อนชำระกันหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายอาคารพร้อมที่ดินแล้ว ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญาจำเลยจะริบเงินเหล่านี้โดยอ้างว่าเป็นเงินมัดจำที่อาจริบตามกฎหมายไม่ได้

          สัญญาจะซื้อจะขายข้อ 9 ระบุว่าหากโจทก์ซึ่งเป็นผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินตามที่ระบุในสัญญา ให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาและยินยอมให้จำเลยริบเงินที่ชำระไว้แล้วทั้งหมด กับให้ถือว่าสัญญานี้เป็นอันยกเลิกกันทันทีโดยมิต้องบอกกล่าว ดังนั้น เมื่อโจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ผลคือสัญญาเลิกกัน เงินที่โจทก์ส่งมอบแก่จำเลยดังกล่าวเพื่อชำระหนี้บางส่วนย่อมกลับเป็นเงินอันจะต้องใช้คืนเพื่อให้คู่สัญญากลับสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 แม้เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันให้ริบโดยไม่ต้องใช้คืนเพื่อกลับสู่ฐานะเดิมข้อตกลงให้ริบดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตามมาตรา 379 และเบี้ยปรับนี้ถ้าสูงเกินส่วน ศาลก็มีอำนาจที่จะลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ ส่วนที่ตกลงกันไว้ในตอนท้ายของสัญญาข้อ 9 อีกว่า หากโจทก์ผู้จะซื้อผิดนัดไม่ชำระเงินตามสัญญาอีกยอมชำระค่าปรับให้แก่จำเลยผู้จะขายต่างหากเป็นเงินครั้งละ 10,000บาท ก็เป็นเบี้ยปรับเช่นกัน แต่ที่กำหนดไว้ในสัญญาให้เรียกได้อีกนั้นเป็นการซ้ำซ้อน จึงไม่กำหนดเบี้ยปรับให้แก่จำเลยอีก

-หลักฐานที่ต้องใช้ประกอบในการยื่นฟ้อง-
1.สัญญาจอง ใบจอง สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดพร้อมเอกสารแนบท้ายของสัญญา
2.เอกสารโฆษณาทั้งหมด อาทิเช่น โบว์ชัวร์ การโฆษณาผ่านสื่อออนไลน์
3.หลักฐานการชำระเงินทั้งหมด อาทิเช่นใบเสร็จรับเงิน
4.หนังสือแจ้งจากทางโครงการทั้งหมด
5.ภาพถ่ายภายในห้องชุด ส่วนกลาง และภาพถ่ายภายนอกโครงการ
6.หนังสือแจ้งผลการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากธนาคาร
7.ทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนผู้จะซื้อ
 
-เขตอำนาจศาลในการดำเนินการฟ้อง-
ฟ้องตามสถานที่ตั้งของบริษัทเจ้าของโครงการ หรือสถานที่ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด

 

บทความอื่นๆ

ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชายชู้ หรือหญิงชู้ และการฟ้องหย่า

มีทะเบียนสมรสไว้ อุ่นใจเสมอ !!

อ่านเพิ่มเติม

ความผิดฐานหมิ่นประมาท

ระวัง!! อบอุ่นในโซเชียล แต่เดียวดายหน้าบัลลังก์

อ่านเพิ่มเติม

Copyright © 2022-2025 ph1a9.fastwoom.com all right are reserved. อยากทำเว็บไซต์